บทความน่าสนใจ

วิธีคิดแบบ UNIQLO สู่ความสำเร็จแบรนด์ระดับโลก [[Uniqlo Made For All]]

หลังเรียนจบปริญญาตรีและเข้าทำงานที่อิออน ห้างค้าปลีกใหญ่สุดของญี่ปุ่น กระทั่งต้นทศวรรษ 1970 ทาดาชิ ยานาอิ ซึ่งอยู่ในวัย 20 กว่าปีก็ตัดสินใจลาออกเพื่อกลับไปสานต่อธุรกิจร้านตัดเสื้อผ้าของครอบครัวซึ่งตั้งอยู่ในเมืองอูเบะ ทางตะวันตกเฉียงใต้ของฮิโรชิม่า ผลของการบริหารกิจการครอบครัวโดยยานาอิ ทำให้พนักงาน 6 คนจากทั้งหมด 7 คนลาออก นาทีนั้น ยานาอิเริ่มคิดว่าการบริหารธุรกิจไม่ใช่งานที่เขาถนัด

uniqlo01
40 ปีต่อมา ยานาอิเข้าสู่วัย 68 ปี นั่งแท่นประธานบริษัทฟาสต์ รีเทลลิ่ง บริษัทแม่ของยูนิโคล่ อาณาจักรแฟชั่นระดับโลก บทเรียนจากการบริหารธุรกิจครอบครัว และความสนใจใคร่รู้เกี่ยวกับการเป็นผู้นำที่ดีกลายเป็นเคล็ดลับสู่ความสำเร็จ ยานาอิเป็นคนค่อนข้างเก็บตัว เขาเป็นหนอนหนังสือที่ชอบอ่านชีวประวัติบุคคล โดยเฉพาะนักธุรกิจที่เป็นตำนาน เช่น โคโนสุเกะ มัตสุชิตะ ผู้ก่อตั้งพานาโซนิก และโซอิจิโร ฮอนดะ ผู้ก่อตั้งฮอนด้า มอร์เตอร์ หนังสือประเภทนี้เปรียบเหมือนกรณีศึกษาด้านการบริหารธุรกิจ และทำให้เขาได้เรียนรู้จากประสบการณ์คนอื่น
uniqlo02

นอกเหนือจากการอ่าน ภูมิปัญญาที่เรียนรู้ยังมาจากการเดินทาง ยานาอิชมชอบวัฒนธรรมคนหนุ่มสาว เขาจึงเดินทางไปอเมริกา อังกฤษ และยุโรปบ่อยๆ เพื่อสำรวจว่าคนในอุตสาหกรรมเสื้อผ้ากำลังทำอะไรอยู่ นักธุรกิจที่เขาชื่นชอบมากที่สุดคือเลสลี่ เว็กซ์เนอร์ที่เข้ามาบริหารแบรนด์ชุดชั้นใน Victoria’s Secret จนสามารถทำรายได้ถึง 1 ล้านล้านเยนในเวลาอันสั้น เขายังศึกษากลยุทธ์ของแบรนด์ Next ในอังกฤษที่ทำยอดขายต่อปีจาก 2,000 ล้านเยนพุ่งไปที่ 200,000 ล้านเยนในเวลาเพียง 8 ปี

uniqlo07

การเดินทางไปเปิดหูเปิดตาทำให้ยานาอิฝันอยากสร้างธุรกิจให้เติบโตทัดเทียมแบรนด์ตะวันตกเหล่านี้บ้าง แต่ตอนนั้น ธุรกิจครอบครัวที่เขาดูแลเป็นเพียงร้านเสื้อผ้าผู้ชายในจังหวัดที่ที่มีประชากรเพียง 1.7 แสนคน เขาจึงตั้งเป้าว่าหากขยายร้านได้ 30 สาขาและทำรายได้สัก 30,000 ล้านเยนก็ดีถมแล้ว การณ์กลับกลายเป็นว่า ยานาอิมาไกลมาก ปัจจุบัน บริษัทฟาสต์ รีเทลลิ่งของเขามีพนักงาน 110,000 คน ร้านยูนิโคล่มีจำนวน 1,920 สาขาทั่วโลก เกินกว่า 1,000 แห่งเป็นสาขานอกญี่ปุ่น โดยตลาดหลักอยู่ที่จีน ฮ่องกง และประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และรายได้ 47% มาจากธุรกิจในต่างประเทศ

ทั้งนี้ หากถอดรหัสความสำเร็จจากหลักและวิธีคิดในการบริหารกิจการของยานาอิ จะประกอบด้วย

1. อย่ากลัวความล้มเหลว เพราะถ้าไม่ลองก็ไม่เกิดการเรียนรู้ แล้วความสำเร็จจะมาได้อย่างไร ยูนิโคล่เองก็เคยขาดทุนย่อยยับในตลาดจีน สหรัฐฯ และยุโรป แต่ยานาอิมองว่านั่นคือความท้าทาย ต้องคิดหาวิธีในการฟื้นสถานการณ์

2. รู้จักคู่แข่ง ยานาอิศึกษากลยุทธ์การแข่งขันโดยซุ่มศึกษาแบรนด์ระดับโลกอย่าง H&M, Mark & Spencer และ Gap ดูว่าแบรนด์เหล่านั้นบริหารดีหรือพลาดอย่างไร แล้วเรียนรู้จากตรงนั้น

3. เข้มงวดกวดขัน การเป็นคนง่าย ๆ สบายๆ ไม่ว่ากับตัวเองหรือผู้ใต้บังคับบัญชาอาจไม่เป็นผลดีนัก บางครั้งก็จำเป็นต้องใช้ไม้แข็งและกดดันเพื่อให้การทำงานมีการพัฒนาและเติบโตขึ้น

4. ต้องปรับตัวหากไม่อยากเป็นจุดอ่อนที่ถูกกำจัด นี่คือคัมภีร์ที่พนักงานยูนิโคล่ทุกคนยึดถือ การเปลี่ยนแปลงนั้นสำสำคัญและเลี่ยงไม่ได้ หากไม่ปรับตัวก็ไม่อาจอยู่รอด ลงเอยด้วยการถูกขจัดออก

5. ความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องเลวร้าย แถมยังอาจเป็นโอกาสอันดีก็ได้ เหมือนตอนที่จดทะเบียนเครื่องหมายทางการค้า ยานาอิตั้งใจใช้ชื่อ Uniclo (ย่อจาก Unique Clothing) แต่เจ้าหน้าที่เขียนผิดเป็น Uniqlo ซึ่งยานาอิไม่ได้มองเป็นปัญหาใหญ่ สุดท้ายก็กลายเป็นแบรนด์ที่แจ้งเกิดในวงการแฟชั่น

6. ไม่สายที่จะเริ่มต้นใหม่ อย่ายึดติดรูปแบบเดิมหากมันไม่เวิร์ก ตอนเริ่มธุรกิจแรก ๆ สินค้าของยานาอิคุณภาพต่ำ ทำกำไรน้อย เขาตัดสินใจทำแบรนด์เสื้อผ้าเอง โดยควบคุมคุณภาพและขั้นตอยการผลิต ถือเป็นการวางคอนเซปต์ใหม่หมดจนนำไปสู่ความสำเร็จในปัจจุบัน

7. เติบโตช้าแต่มันคง อย่าพยายามขยายธุรกิจเร็วเกินไปโดยไม่ดูสภาพแวดล้อมตามความเป็นจริง ตอนที่ยูนิโคล่รุกตลาดอังกฤษ ตั้งเป้าขยาย 50 สาขา แต่กลับลงเอยด้วยการทะยอยปิด 16 สาขาเพราะขาดทุนจนต้องยอมถอยมาตั้งหลัก ปัจจุบัน ร้านยูนิโคล่ในอังกฤษแม้จะมีเพียง 10 แห่งแต่ก็ทำกำไรทุกสาขา

8. ลงไปคลุกวงในบ้าง ในการทำงาน เป็นเรื่องที่ดีที่มีคนคอยช่วย แต่การจ่ายงานให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำโดยไม่เหลียวแลนั้นเป็นเรื่องไม่ควรทำ อย่างน้อยผู้บริหารควรใส่ใจรายละเอียดต่าง ๆ เพราะรายละเอียดคือหัวใจของทุกสิ่ง และทุกสิ่งอย่างจะปรากฏให้เห็นในรายละเอียด

9. ชีวิตแสนสั้น เดินหน้าทำตามความฝัน เราไม่รู้หรอกว่าวันไหนจะเป็นวันสุดท้ายที่ได้ใช้ชีวิต ดังนั้น หากมีเป้าหมาย จงพยายามทำมันให้เป็นจริง ยิ่งเริ่มเร็วยิ่งดี หากทำไม่สำเร็จ อย่างมากก็แค่เสียใจ แต่อย่างน้อยก็ยังได้ลงมือทำ

Credit : smethailandclub.com

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *