ไม่มีหมวดหมู่

ความสำคัญของการสร้างภาพลักษณ์ขององค์กร

ภาพลักษณ์ที่ดีมีความสำคัญต่อการดำเนินงานขององค์การ  ไม่ว่าองค์การนั้นจะเป็นธุรกิจหรือองค์การไม่แสวงหากำไรก็ตาม
ทุกวันนี้การแข่งขันที่มีในตลาดมิใช่การแข่งกันที่สินค้า ราคา การเข้าถึงตัวสินค้าอีกต่อไป  แต่เป็นการแข่งขันกันที่ภาพลักษณ์
หรือการรับรู้ของผู้บริโภคหรือกลุ่มเป้าหมายที่มีต่อสินค้าหรือองค์การผู้ผลิต
ตัวอย่างเช่น   ภาพลักษณ์ที่ดีมีส่วนสร้างมูลค่าเพิ่มให้องค์การ   ธุรกิจเสนอบริการที่แทบไม่แตกต่างกัน  เช่น ธนาคาร บริษัทผลิตกระแสไฟฟ้า บริษัทผู้จำหน่ายน้ำมัน ห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล   มูลนิธิสาธารณกุศลต่าง ๆ ทั้งหมดแทบไม่ได้เสนอตัวสินค้าหรือบริการหรือแนวคิดที่แตกต่างแต่สิงที่แตกต่างคือความเชื่อถือที่กลุ่มเป้าหมายมีต่อองค์การเหล่านั้น ความเชื่อถือและการรับรู้ดังกล่าวถูกนำเสนอด้วยกระบวนการสื่อสารซ้ำ ๆ ตอกย้ำด้วยวิธีการด้านการประชาสัมพันธ์ที่ทำให้ภาพลักษณ์ขององค์การนั้นโดดเด่นและจับจองพื้นที่ในหัวใจของกลุ่มเป้าหมาย   เราจึงมีภาพลักษณ์ของบริษัทน้ำมันบางบริษัทที่ให้ความใส่ใจกับสิ่งแวดล้อม บางบริษัทให้ความใส่ใจกับเรื่องการพัฒนาการศึกษาของเยาวชน  เรามีภาพบริษัทปูนซีเมนต์ไทยที่ให้ความใส่ใจกับการสร้างนวัตกรรมทั้งด้านผลิตภัณฑ์และนวัตกรรมในการบริหารจัดการ  เรามีภาพบริษัทประกันภัยบางบริษัทที่วางตำแหน่งในใจของผู้บริโภคเป็นบริษัทของคนไทย  เหล่านี้ล้วนเป็นสิ่งที่องค์การใช้กระบวนการสื่อสารเพื่อสร้างภาพลักษณ์และทำให้องค์การดูมีคุณค่าในสังคมทั้งสิ้น  นอกจากในเรื่องการทำให้มีคุณค่าในสังคมแล้ว การมีภาพลักษณ์ที่ดียังทำให้เกิดความร่วมมือร่วมใจจากทั้งคนในและนอกองค์การ  องค์การที่มีภาพลักษณ์ที่ดีเป็นที่นิยม จูงใจให้ผู้มีความรู้ความสามารถอยากเข้ามาร่วมงาน ทำให้ผู้ทำงานอยู่แล้วภาคภูมิใจที่ได้ทำงานในองค์การแห่งนั้น  และพร้อมจะทุ่มเทเพื่อรักษาความเป็นองค์การที่เป็นเลิศนั้น ๆ สำหรับบุคคลภายนอกกลุ่มต่าง ๆที่ต้องมีความสัมพันธ์กับองค์การนั้น ๆก็จะเกิดความรู้สึกไว้เนื้อเชื่อใจ วางใจและให้ความร่วมมือเมื่อองค์การต้องการความร่วมมือไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใด  องค์การสาธารณกุศลที่ต้องการความร่วมมือจากหน่วยงานทั้งของภาครัฐและเอกชน ที่มีภาพลักษณ์ที่ดีก็มักได้รับความร่วมมืออย่างดีในยามที่ต้องการดำเนินโครงการต่าง ๆ แม้ในภาวะวิกฤติขององค์การภาพลักษณ์ที่ดี ทั้งในส่วนของผู้บริหาร พนักงาน ผลการดำเนินงานที่ผ่านมาจะเป็นส่วนสร้างความเชื่อถือ สร้างแนวร่วมที่เป็นเกราะป้องกันไม่ให้ข่าวลือหรือสถานการณ์ที่เลวร้ายขยายตัวลุกลามแต่จะเป็นบุคคลที่สามที่ออกมาแสดงความคิดเห็น ตอบโต้และให้ข้อเท็จจริงที่เป็นธรรมสู่สังคม ตัวอย่างของหนังสือพิมพ์มติชนเป็นตัวอย่างที่เห็นได้ชัด แตกต่างจากองค์การที่มีภาพลักษณ์ที่มีปัญหามวลชนพร้อมที่จะเชื่อข่าวลือ ต่าง ๆและการแก้ไขต้องใช้เวลาแก้ไข

corporate image

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *