ดร.อธิปัตย์ คลี่สุนทร
การบริหารคือการหาทางทำงานให้สำเร็จ การทำงานให้สำเร็จได้นั้น มีวิธีการอยู่มากมายหลายวิธีที่ผู้บริหารทั้งหลายได้ใช้ความรู้ ความสามารถ เลือกวิธีที่เหมาะตามสภาพความต้องการและสภาพแวดล้อมมาใช้ให้เป็นประโยชน์ได้
แต่เดิมแนวความคิดว่าองค์ประกอบสำคัญที่เป็นปัจจัยช่วยให้การบริหารงานใดๆ สำเร็จได้โดยง่าย คือ คน (Man) งบประมาณ (Money) วัสดุอุปกรณ์ (Material) และการจัดการ (Management) แนวคิดนั้นรู้โดยทั่วกันว่า 4 M’s
ปัจจุบัน ปัจจัยสำคัญที่จะส่งผลให้สามารถทำงานสำเร็จได้ดียิ่งขึ้น มีเพิ่มอีก 2 ประการ คือ ข้อมูลสารสนเทศ (Information) และเทคโนโลยี (Technology) ซึ่งหมายถึง การนำเอาวิทยาศาสตร์ประยุกต์มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางปฏิบัติ 2 ประการหลังนี้โดยทั่วๆ ไป เรียกกันว่า IT (ไอที)
อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากองค์ประกอบทั้ง 6 ประการ แล้ว ยังมี องค์ประกอบที่สำคัญมากที่สุด คือ ไหวพริบ ประสบการณ์ และปฏิภาณในการบริหารการจัดการ และการแก้ปัญหาต่างๆ ในการทำงานของตัวผู้บริหาร นั้น
โลกปัจจุบันนี้เปลี่ยนแปลงเป็นอย่างมาก โดยการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนาการผลิตแลการบริการทุกด้านให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยลดต้นทุนด้านแรงงาน ด้านวัสดุลง นอกจากนั้น ยังสามารถแพร่สินค้า สิ่งผลิตบริการ แม้กระทั่งแนวความคิดให้เป็นที่ทราบกันโดยทั่วไปได้ง่าย การบริหารในยุคปัจจุบันจึงคงต้องปรับเปลี่ยนวิธีการไปต่างๆ พอสมควร เพื่อให้องค์กรสามารถทำหน้าที่ได้ดียิ่งขึ้น ตอบสนองความต้องการของผู้เกี่ยวข้องได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
บทความนี้มุ่งเสนอแนวความคิด 4 ประเด็น คือ
(1) โลกาภิวัตน์และความหมาย
(2) ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ
(3) ยุทธศาสตร์การบริหาร
(4) ข้อคิดเพื่อประกอบการพิจารณา
1.โลกาภิวัตน์และความหมาย
ราชบัญฑิตยสถานได้บัญญัติศัพท์คำนี้ขึ้นให้มีความหมายใกล้เคียงกับต้นศัพท์ (Globalization) คือ ให้หมายถึง การแผ่ถึงกันทั่วโลก การเข้าถึงโลกการเอาชนะโลก ซึ่งคงมีนัยว่า ล่วงรู้ความเป็นไปของโลกหรือก้าวทันโลก กล่าวคือ ความเปลี่ยนแปลงของโลกที่เกิดขึ้นในประเทศของตนเองและประเทศต่างๆ เมืองต่างๆ ทั้งทางด้านสังคม เศรษฐกิจการเมือง ฯลฯ สามารถรับรู้รับทราบได้ในเวลาใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะอยู่ ณ ที่ใดๆ หากเรื่องราวของความเปลี่ยนแปลงนั้นๆ เป็นประโยชน์ต่อการดำรงชีพ ก็สามารถนำมาปรับใช้ หรือประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ได้โดยเหมาะสม
จากการพัฒนาหลายด้าน โดยเฉพาะด้านการสื่อสาร และโทรคมนาคม และด้านระบบคอมพิวเตอร์ ทำให้ยุคโลกาภิวัตน์จึงเป็นยุคที่ผู้คนทั้งโลกที่สามารถสื่อสาร ขนส่งเดินทางไปมาหากันได้ คิดคล้ายๆ กัน มีอุปกรณ์การดำรงชีวิตที่เป็นสินค้า สิ่งผลิตคล้ายๆ กัน ดูภาพยนตร์เรื่องเดียวกันฟังเพลงเพลงเดียวกัน วัฒนธรรมประเพณีของท้องถิ่นหนึ่งสามารถแพร่ไป ได้รับการยอมรับอีกที่หนึ่งได้ง่าย ซึ่งต่อไปวิถีชีวิต การกินอยู่ การแต่งกายก็จะคล้ายๆ กันยิ่งขึ้น รวมทั้งจะมีภาษากลางใช้ในการสื่อความหมายทั่วโลกไม่กี่ภาษา หรือเป็นภาษาเดียวกันมากขึ้นด้วย
2.ปัจจัยที่ส่งผลกระทบ
ปัจจัยที่ส่งผลกระทบให้ผู้คนรู้เท่าๆ กัน หรือเกือบเท่ากันแต่งกายเหมือนกัน มีวิถีชีวิตที่กำลังปรับเปลี่ยนไปใกล้เคียงกันมากขึ้นนั้น มีหลายประการที่สำคัญ คือ
2.1 เทคโนโลยีสารสนเทศ เทคโนโลยีนี้ครอบคลุมเรื่องการทำให้ตัวเลข ตัวอักษร หรือข้อความ สัญลักษณ์ รวมทั้งภาพและเสียง ที่ผ่านการวิเคราะห์ จัดกลุ่ม เลือกสรรแล้ว โดยระบบคอมพิวเตอร์ (Computerized System) หรือโดยเครื่องมืออุปกรณ์อื่นสามารถส่งผ่าน หรือนำเสนอให้ผู้รับ ผู้ใช้ หรือผู้ต้องการได้กว้างขวางและรวดเร็วมาก เทคโนโลยีเรียกกันทั่วๆ ไปว่า ไอที (Information Technology)
2.2 เทคโนโลยีโทรคมนาคม ส่วนนี้ คือ สะพานหรือทางเดินของข้อมูลข่าวสาร ภาพ เสียง จากผู้ส่งไปยังผู้รับ ซึ่งปัจจุบันสามารถทำได้ทั้งทางอากาศ ผ่านเครือข่ายดาวเทียม (Satellite Systems) หรือทางบก ทางน้ำ ผ่านเครือข่ายสายใยแก้ว (Fiber optics) ขณะนี้ประเทศไทยกำลังดำเนินการทั้งสองระบบที่จะช่วยเป็นทางเดินให้ข้อมูลข่าวสาร ภาพ เสียง รับส่งได้โดยสะดวก และรวดเร็วมาก ซึ่งต่อไปอาจจะใช้คำว่า Information Superhighways ได้
2.3 เทคโนโลยีอื่นๆ อาทิ เทคโนโลยีการผลิตสินค้า ทำให้ผลิตได้มากๆ โดยมีมาตรฐานและคุณภาพเหมือนกัน ใช้หุ่นยนต์ (Robot) และแรงคนประกอบกัน เทคโนโลยีการเรียนการสอน ครูคนเดียวผ่านสื่อโทรทัศน์ วิทยุ เครือข่ายดาวเทียม สายใยแก้ว ไปถึงนักเรียนจำนวนมากๆ ได้ในเวลาเดียวกัน นักเรียนหรือผู้เรียน (ทั้งในระบบและนอกระบบ) ได้รับรู้ รับทราบ เช่นเดียวกัน สามารถถาม – ตอบ ในช่วงเวลาเรียนจากระยะทางไกลๆ ได้ด้วย การลงทะเบียนเรียน การเลือกวิชาเรียน อาจจะใช้ระบบคอมพิวเตอร์ หรือระบบ รหัสแท่ง Bar code ช่วยให้ทำงานได้รวดเร็วมาก ประหยัดเวลา และเป็นระบบ ระเบียบ ดูผลง่ายนอกจากนี้ยังมี เทคโนโลยีการบริหาร เทคโนโลยีการก่อสร้าง ฯลฯ ที่ทำให้ผู้คนรับรู้รับทราบคล้ายๆ กัน ใช้สินค้าและบริการเกือบเหมือนกัน อยู่อาศัยหรือทำงานในอาคารมีลักษณะคล้ายๆ กัน รวมทั้งทำให้ภาพการดำรงชีวิตของผู้คนในที่ห่างไกลจากเมือง ต่างเมือง หรือต่างประเทศค่อนข้างใกล้เคียงกันด้วย
3.ยุทธศาสตร์การบริหาร
ดังกล่าวแล้วข้างต้น การบริหาร หมายถึง การทำงานให้สำเร็จแต่จะมีกลวิธีใดบ้างที่จะช่วยให้งานสำเร็จได้นั้น โดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัตน์ที่โลกเสมือนเล็กลง (Global Village) ในขณะที่ทรัพยากรธรรมชาติ และทรัพยากรการผลิตลดลงด้วยนั้น นักบริหารในระยะหลังๆ นี้ พยายามใช้ยุทธศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อมุ่งบรรลุเรื่อง 3 เรื่อง คือ
– ใช้คนเท่าเดิมทำงานได้มากขึ้น
– งานเท่าเดิม แต่ใช้คนน้อยลง และ
– คุณภาพของงานต้องดีเท่าเดิม หรือดีกว่า
การจะบรรลุเรื่อง 3 เรื่อง ดังกล่าวนั้น ยุทธศาสตร์ที่ใคร่จะเสนอ คือ
3.1 การใช้ระบบข้อมูลสารสนเทศ (Information Utilization) เพื่อประกอบการตัดสินใจให้มากขึ้น แต่ทั้งนี้ต้องมีข้อแม้ว่า ข้อมูลสารสนเทศนั้นๆ ต้องรวดเร็ว ถูกต้อง ทันสมัย และใช้ประยุกต์ได้ ปัญหาคือ ข้อมูลสารสนเทศบางอย่างรวบรวมได้ง่าย ถ้าครอบคลุมเนื้องานน้อย แต่บางอย่างก็ได้มายาก ต้องอาศัยเวลาสำรวจ ตรวจสอบ วิเคราะห์ ก่อนนำมาใช้ได้ ในส่วนนี้ต้องอาศัยระยะเวลาและศึกษาว่าข้อมูลสารสนเทศเรื่องใดจำเป็นและครอบคลุมพื้นที่ใดมากน้อยเพียงใด จากผู้บริหารหรือผู้ต้องการใช้ข้อมูลด้วย ปัจจุบันข้อมูลต่างๆ นอกจากจะสามารถเก็บได้ในหน่วยความจำของระบบคอมพิวเตอร์แล้ว ยังสามารถเก็บไว้ใน CD-ROM (Compact Disk Read-Only-Memory) ซึ่งนำไปใช้ได้สะดวก รวดเร็วและราคาถูกด้วย
3.2 การบริหารทางไกล (High-Tech Administration) ในยุคนี้เครื่องมือเครื่องใช้ในการติดต่อสื่อสารสะดวก รวดเร็วมาก อยู่ไกลกันก็สามารถทำงานเรื่องเดียวกันได้ ประชุมร่วมกันได้ (Teleconference) ดังนั้น สื่อหลายอย่าง อาทิ โทรศัพท์มือถือ โทรสาร วิทยุ โทรทัศน์ คอมพิวเตอร์ เครือข่ายการเชื่อมโยงอุปกรณ์เหล่านี้ควรหาไว้ใช้ตามสมควร เพราะจะช่วยประหยัดเวลาเข้าใจกันง่ายและสะดวก เรื่องนี้ปัญหาคือ ต้องมีการจัดระบบ ระเบียบ และเครือข่ายการรับส่งให้ดีพอ
3.3 การหาความรู้ทำงานกับระบบคอมพิวเตอร์ (Computer Literacy) ปัจจุบันระบบคอมพิวเตอร์เป็นส่วนสำคัญในการทำงานสำหรับผู้บริหารมากขึ้น ผู้บริหารในยุคนี้ ควรมีทักษะทำงานกับระบบคอมพิวเตอร์บางประการ อาทิ การเรียกข้อมูลสำคัญมาใช้ การแก้ไขข้อมูลบางรายการ ฯลฯ ซึ่งทักษะดังกล่าวสามารถฝึกอบรมได้ภายในเวลาไม่นานนัก โปรแกรมสำเร็จรูปจำนวนมากสามารถฝึกฝนใช้ได้โดยใช้เวลาประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นเมื่อใช้บ่อยๆ ทักษะด้านนี้จะพัฒนาขึ้นได้
3.4 การมองการณ์ไกล (Introspection) ดังที่ใช้กันอยู่ว่าผู้บริหารและคณะต้องมีวิสัยทัศน์ (vision) กว้างไกล ไม่นึกแต่เพียงการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า แต่ต้องคาดการณ์ในอนาคต10 ปี 15 ปี 30 ปี บนฐานของความเป็นจริงในปัจจุบัน ผนวกกับความเปลี่ยนแปลงทุกด้านในอนาคตจากการคาดเดาเชิงวิทยาศาสตร์ ได้ใกล้เคียง และมีแนวปฏิบัติที่จะไปสู่เป้าหมาย หรือความคาดหวังในอนาคตนั้นๆ ได้อย่างชัดเจน ซึ่งบางครั้ง จำเป็นต้องอาศัยคนนอกมาช่วยมอง (outside in) หรือช่วยคิดในบางเรื่องด้วย
3.5 การใช้หน่วยงาน/องค์กรอื่นทำงาน (Decentralization) งานบางงานที่หน่วยงานอื่นๆ ทำได้ดีกว่า เนื่องจากหลายหน่วยงานที่ตั้งภายหลังหรืออยู่ในพื้นที่เป้าหมาย มีวัตถุประสงค์เฉพาะสามารถทำงานได้ดีกว่า ปัจจุบันภาคเอกชนที่ทำงานเฉพาะบางเรื่องได้ดีกว่า ควรได้รับโอกาสให้ทำงาน (Privatization) เนื่องจากคล่องตัวกว่า ปรับเปลี่ยนได้ง่ายกว่า แต่ทั้งนี้ควรต้องมีการวิเคราะห์ลักษณะงานอย่างรอบคอบด้วย แนวคิดพื้นฐานของเรื่องนี้คือ การกระจายอำนาจให้ผู้เหมาะสมรับผิดชอบ
3.6 การจัดรูปองค์กรที่ทำงานได้ฉับไว (Organization Development) ให้มีลักษณะขั้นตอนการบังคับบัญชาไม่ซับซ้อนนัก องค์กรปัจจุบันควรต้องปรับโครงสร้างองค์กร (Re-structuring) และปรับวิธีหรือกระบวนการการทำงาน (Re-engineering) ให้เหมาะสมกับยุคและสมัยนี้ด้วย มีนักบริหารบางท่านเสนอว่าองค์กรอาจจัดให้มีความยืดหยุ่น สามารถสนองตอบความต้องการของผู้รับบริการได้เป็นอย่างดี หน่วยงานย่อยควรจะมีความสำคัญทัดเทียมกันและลักษณะงานประจำ ดังเช่นเป็นสายงานหลัก (Line) และสายงานรอง (Staff) ที่ไม่ค่อยเอื้อต่อการปรับตัว น่าจะค่อยๆ หายไป องค์กรใดใหญ่มาก อุ้ยอ้าย ปรับตัวช้า ก็ควรแยกองค์การ (Spin off) ให้เป็นองค์กรย่อยหลายองค์กร งานก็จะฉับไว รวดเร็ว และตอบสนองความต้องการได้ดีขึ้น นอกจากนั้น ระบบสำนักงานอัตโนมัติ (Office Automation) ที่เชื่อมโยงกันได้ทั้งสำนักงาน ควรได้รับการพิจารณาในการปรับปรุงองค์กรด้วย
3.7 การพัฒนาบุคลากร (Personnel Development) บุคลากรในหน่วยงานควรได้รับการศึกษา ฝึกฝน อบรมอย่างสม่ำเสมอ ให้เท่าทันความเปลี่ยนแปลงทางวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และความต้องการของหน่วยงาน มิฉะนั้นอาจจะปรับเปลี่ยนได้ไม่ทันหรือไม่เหมาะสม การพัฒนาบุคลากรมิใช่แนวคิดใหม่ แต่ปัจจุบันวิธีพัฒนาบุคลากรนั้นอาจจะทำได้โดยรูปแบบใหม่ ทำให้สามารถเข้าใจวัตถุประสงค์ขององค์กร แนวโน้มของความเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น พื้นฐานการศึกษาที่สูง การสร้างความเข้าใจทำได้น่าจะง่ายขึ้น และช่วยปรับตัวให้เข้ากับความเปลี่ยนแปลงได้ง่ายขึ้น ในส่วนนี้การให้โอกาสบุคลากรได้ทำงาน การสนับสนุนให้ได้เรียนต่อ หรือได้ฝึกอบรมในระดับสูงขึ้น รวมทั้งให้โอกาสเรียนภาษาที่ใช้ในองค์การสหประชาชาติ เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส ภาษาจีน ภาษาสเปน ภาษาอาหรับ ภาษารัสเซีย หรือภาษาของประเทศที่มีอาณาเขตติดต่อ ให้เก่งเท่าหรือเกือบเท่าภาษาแม่ของแต่ละคน จะช่วยให้รับรู้และทำงานได้ดีขึ้น
4.ข้อคิดเพื่อประกอบการพิจารณา
การบริหารงานให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในยุคโลกาภิวัตน์ที่จะมีการพัฒนาทั้งคน วิธีการ เครื่องมือเทคโนโลยี และระบบข้อมูลสารสนเทศเพื่อทำงานได้สำเร็จรวดเร็วยิ่งขึ้นโดยใช้ต้นทุนด้านแรงงานและทรัพยากรน้อยลงได้นั้น มีสิ่งที่ควรคำนึงถึงด้วยหลายประการ คือ
4.1 การใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่น (Local Wisdom) ไม่ว่าท้องถิ่นในเมืองหรือในชนบท จะมีบุคลากรที่มีความรู้ และประสบการณ์ที่สั่งสมกันต่อๆ มา สามารถช่วยแก้ปัญหาหรือเสนอแนะสิ่งที่ถูกต้อง เหมาะสมกว่าได้ในหลายเรื่อง ดังนั้น การยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น องค์คณะอื่น จะช่วยให้งานบางงานสำเร็จได้โดยง่าย ทั้งนี้ เนื่องจากว่าองค์ความรู้ในท้องถิ่นนั้น เป็นความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติจริงที่สืบทอดกันมา และสามารถปรับใช้ในหลายสถานการณ์ได้
4.2 การถนอมใช้ทรัพยากรธรรมชาติและรักษาสภาพแวดล้อม แนวคิดนี้สอดแทรกเข้ามาอยู่ใน ยุทธศาสตร์การบริหาร เนื่องจากว่า ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต้นไม้ สัตว์ป่า แม่น้ำ ลำคลอง ภูเขา อากาศบริสุทธิ์ ฯลฯ นั้น นับวันแต่จะลดลงหากใช้ไม่ถนอม และไม่บูรณะทดแทน ปัจจุบันมีการนำพลังงานที่มิใช่สิ่งหมดเปลือง อาทิ พลังน้ำ พลังลม พลังแสงอาทิตย์ และพลังคลื่นในมหาสมุทรมาใช้มากขึ้น นักบริหารต้องรู้จักใช้ทรัพยากรให้คุ้มค่า แนวคิดหนึ่งในเรื่องนี้ คือ 3 Re’s คือ Reduce : ใช้ให้น้อยลง, Re-used : ใช้แล้วใช้อีก (ในรูปเดิม) และ Recycle : ใช้แล้วเปลี่ยนรูปเป็นอย่างอื่นเพื่อใช้อีก
4.3 การปลูกฝังจริยธรรมและคุณธรรม ผู้บริหารและผู้ใช้เทคโนโลยีควรต้องเป็นผู้มีจริยธรรมและคุณธรรมสูงยิ่ง เนื่องจากอยู่ใกล้หรืออยู่กับต้นตอของความได้เปรียบทางสังคม องค์กรที่มีเครื่องมือ เครื่องใช้ในการคมนาคมติดต่อสื่อสารที่สมบูรณ์ จะได้เปรียบองค์กรที่ด้อยกว่ามาก ดังนั้นการใช้ข้อมูลสารสนเทศ หรือเครื่องมืออุปกรณ์ต่างๆ จึงต้องใช้เพื่อกระจายคุณภาพ ความเสมอภาคและความเป็นธรรม สำหรับผู้รับบริการหรือส่วนรวมมากกว่า จะบริหารหรือใช้เทคโนโลยีฉกฉวยความได้เปรียบในเชิงการบริหาร การค้า หรือผลกำไรทางเศรษฐกิจแต่ประการเดียว ความสำนึกเรื่องความถูกต้อง การตอบแทนชุมชน สังคม ควรต้องมีอยู่ในใจทุกคน
4.4 ยุคโลกาภิวัตน์ อาจจะมิใช่ยุคที่ดีที่สุดในการพัฒนาของโลกโดยภาพรวม เพราะหากยุคนี้เป็นตัวแทนของการรวมตัวเป็นบริษัทข้ามชาติ เป็นธุรกิจขนาดใหญ่มหาศาล และเป็นยุคที่ผู้ด้อยโอกาสมิได้รับความเสมอภาคตามสิทธิของตนเองแต่เพียงลักษณะเดียวแล้ว ยุคนี้จะเป็นยุคที่ทำลายองค์กร ธุรกิจ กลุ่มงานขนาดเล็กให้สลายตัวไปได้ในไม่ช้า และส่วนเล็กๆ หลายส่วน เช่น สถาบันครอบครัว ธุรกิจขนาดย่อม ชุมชนเล็กๆ ก็จะอยู่มิได้ไปด้วย ซึ่งอันที่จริงในยุคนี้ต้องคำนึงถึงหน่วยย่อย ธุรกิจย่อย ที่เป็นองค์ประกอบสำคัญของแต่ละสังคมด้วยสิ่งเล็กๆ เหล่านั้น มีความดีงาม ความพอดี เป็นหลักแฝงอยู่ (Small is beautiful)
โดยสรุป ยุคโลกาภิวัตน์ เป็นยุคที่วิทยาศาสตร์เทคโนโลยี และวิธีการจัดการสมัยใหม่ โดยเฉพาะการคมนาคม ขนส่ง ติดต่อสื่อสาร เป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้สามารถดำเนินกิจการต่างๆ ได้รวดเร็ว สะดวก มีคุณภาพ และมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น การบริหารในยุคนี้มุ่งลดต้นทุนการผลิตเพิ่มปริมาณและคุณภาพสิ่งผลิต และการบริการที่ดี ให้กระจายไปอย่างขว้างขวางได้ โดยใช้บุคลากรบริหาร ควบคุม ดูแล ไม่มาก อย่างไรก็ตาม เรื่องของการพัฒนาบุคลากรให้รู้เท่าทัน และสามารถใช้เครื่องมือเครื่องใช้ที่ช่วยอำนวยความสะดวกต่างๆ บนฐานของจิตใจที่เป็นไปทางสร้างสรรค์มากกว่าการเอาเปรียบ ยังเป็นเรื่องสำคัญมากแม้ในอนาคต ที่สำคัญที่สุด นักบริหารที่เก่งจริงนั้นน่าจะได้แก่นักบริหารที่สามารถคาดการณ์ไกลได้ชัดเจน ทำงานให้สำเร็จโดยลงทุนพอสมควร ใช้ ยุทธศาสตร์และเทคโนโลยีที่เหมาะสม ทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด แต่งานนั้นให้ประโยชน์ทางสร้างสรรค์แก่องค์กรของตนเองและแก่ส่วนรวมมากที่สุด
หนังสืออ่านประกอบ
กมล สุดประเสริฐ (2543). ดัชนีความสำเร็จของการปฏิรูปการศึกษา.
กรุงเทพ : สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ.
ปริทรรศน์ พันธุบรรยงค์ (2537). รีเอ็นจิเนียริ่ง เดอะ คอร์เปอเรชั่น (แปล).
กรุงเทพ : บริษัทคู่แข่งจำกัด (มหาชน)
โรสิต สมิทธิสวัสดิ์ (2533) ปัญหาสิ่งแวดล้อม. จุลสารธนาคารกรุงเทพ. กรุงเทพ :
นิวครีเอตีฟโปรดัคชั่นเฮาส์.วิโรจน์ สารรัตนะ (2546). การบริหารการศึกษา : นโยบายและยุทธศาสตร์เพื่อการบรรลุผล.
กรุงเทพ : ห้างหุ้นส่วนจำกัดทิพยวิสุทธิ์.
สมพงษ์ เกษมสิน (2526). การบริหาร. กรุงเทพ : ไทยวัฒนา
สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาแห่งชาติ (2545). ความสามารถในการแข่งขันด้านการศึกษา
ของประเทศไทย ปี 2544. กรุงเทพ : ห้างหุ้นส่วนจำกัด ภาพพิมพ์
สำนักงานปฏิรูปการศึกษา (2544). รายงานการปฏิรูปการศึกษาต่อประชาชน. กรุงเทพ :
บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนพับลิชชิ่ง จำกัด
อารี สัณหฉวี (2545). ครูใหญ่คือแรงจูงใจของครู (แปล). กรุงเทพ :
สถาบันการแปลหนังสือกรมวิชาการ