บทความน่าสนใจ

โอะโมะเตนาชิ”(OMOTENASHI) おもてなし จิตวิญญาณความเอื้ออาทรของญี่ปุ่น

“โอะโมะเตนาชิ” Omotenashi (おもてなし) ไม่แน่ใจว่าหลายคนเคยได้ยินคำนี้มาก่อนหรือไม่ แต่ถ้าใครเป็นแฟนญี่ปุ่นตัวยงแบบผม ก็คงเคยได้ยินและสัมผัสกับ “จิตวิญญาณการบริการแบบญี่ปุ่น” ซึ่งน่าจะเป็นนิยามที่ชัดเจนที่สุดของ โอะโมะเตนาชิ
.
Omote – โอะโมะเต แปลว่า เบื้องหน้า
Nashi – นาชิ แปลว่า ไม่มี
.
ดังนั้น Omotenashi (おもてなし) จึงมีความหมายถึง การบริการแบบที่ไม่มีเบื้องหน้าเบื้องหลัง เป็นการให้บริการด้วยความบริสุทธิ์ใจ เป็นการบริการที่ทำเพื่อลูกค้าหรือผู้รับบริการที่อยู่ตรงหน้า เฉพาะคนนั้น ในเวลานั้น ณ สถานที่นั้นเท่านั้น

ธรรมชาติของคนญี่ปุ่นที่เราสามารถสัมผัสได้คือ ความเข้าใจเพื่อนมนุษย์ เราจะเห็นได้จากการสร้างสิ่งต่างๆ เพื่ออำนวยความสะดวก ที่ตอบสนองความต้องการของเรา ล้วนผ่านการคิดคำนึงไปแทบทุกอย่าง ในเรื่องของอาหารการกิน มักจะมีแพ็คเกจที่กินง่าย สะดวก และสวยงาม หรือถ้าเป็นเรื่องของมารยาทที่เราจะเห็นได้ชัดเจนมาก ตั้งแต่การเข้าแถว ความเข้าใจปัญหาต่างๆ และแก้ไขให้สะดวกขึ้น

จิตวิญญาณแห่ง โอโมเตะนาชิ ถูกผสมผสานอยู่ในวัฒนธรรญี่ปุ่น มาเป็นเวลานาน และเป็นสิ่งที่สามารถรู้สึกและสัมผัสได้ในทุกหนทุกแห่ง แน่นอนว่า เอกลักษณ์โดดเด่นของการต้อนรับในแบบญี่ปุ่นนี้ จะเป็นความประทับใจ อยู่ในใจของผู้ที่ได้สัมผัส

 

1. โอะโมะเตนาชิคืออะไร ?
คุณเคยได้ยินคำว่า ” โอะโมะเตนาชิ “ มาก่อนไหม? คำนี้หมายความถึงความเอื้ออาทรและการเป็นเจ้าบ้านที่ดีของญี่ปุ่นที่ให้การต้อนรับที่อบอุ่น สิ่งนี้คือการใช้วิธีการที่ปราศจากความเห็นแก่ตัวโดยสิ้นเชิงในการต้อนรับแขก เป็นรูปแบบที่มีความสมดุลอย่างลงตัวระหว่างความเอาใจใส่และความเรียบง่าย เพื่อสร้างสรรค์บรรยากาศแห่งความคุ้นเคยที่เปี่ยมด้วยความไว้วางใจ การผ่อนคลาย และ การให้ความเคารพต่อกันระหว่างผู้ที่ใช้ช่วงเวลานี้ร่วมกัน

2. ต้นกำเนิดของ โอะโมะเตนาชิ
ว่ากันว่า แนวคิดของโอะโมะเตนาชิ มีจุดกำเนิดจาก Sen no Rikyu ผู้ได้รับการยอมรับนับถือเป็น “ปรมาจารย์แห่งพิธีชงชาญี่ปุ่น” เกิดจากความพิถีพิถันในการดูแลแขกของเขาผ่านพิธีชงชาญี่ปุ่นที่เรียกว่า ชาคาอิ (Chakai) การทำพิธีแต่ละครั้งนับว่าเป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต ดังนั้นจึงมีการกล่าวกันว่าทั้งเจ้าบ้านและแขกต้องทำด้วยความจริงใจ

สำหรับเจ้าบ้าน พิธีที่แสดงถึงความจริงใจนี้ ต้องเตรียมการอันจริงจังยิ่งใหญ่เพื่อให้แขกทุกคนสามารถมีประสบการณ์ที่น่าจดจำที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ บางครั้งอาจใช้เวลาทั้งปีเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับพิธีชงชาครั้งเดียวเนื่องจากเจ้าบ้านต้องการเลือกดอกไม้ ชุดน้ำชา ที่แขวน และของหวานที่ถูกต้อง เพื่อให้เหมาะกับฤดูกาลและความชอบของแขก หากเจ้าบ้านไม่สามารถหาถ้วยชาที่สมบูรณ์แบบสำหรับแขกจากของที่ตนมีได้เองพวกเขาจะเสาะหาต่อไปจนกว่าจะพบชุดที่เพียบพร้อมตรงความต้องการ ผู้เชี่ยวชาญด้านการชงชากล่าวกันว่านี่คือส่วนที่ยากที่สุด แต่ก็ถือเป็นส่วนที่สามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์มากที่สุดด้วย และเป็นส่วนที่ท้าทายสติปัญญาผู้จัด ซึ่งการเลือกนี้จะเป็นตัวกำหนดความสำเร็จของพิธีที่เกิดขึ้นจริง ดังนั้นความคิดอยู่เบื้องหลังและความใส่ใจเลือกของประดับตกแต่งที่เหมาะสมที่สุดและน้ำชาสำหรับแขกแต่ละคน แม้จะเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นแต่ก็คือเนื้อแท้ที่สำคัญสำหรับโอะโมะเตนาชิ

3. ที่มาของคำว่า โอะโมะเตนาชิ 
มาจากวลีภาษาญี่ปุ่นหมายถึง “เพื่อให้บรรลุเป้าหมายด้วยสิ่งที่จับต้องได้ทางกายภาพ และ แนวคิด” สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้ก็เฉพาะเมื่อผสมผสานวัสดุที่ดีที่สุด ทั้งอุปกรณ์ในพิธี ดอกไม้ต่างๆ และ ความตั้งใจของเจ้าบ้านในการต้อนรับ และ ให้บริการแขก ออกมาเป็นชาที่ดีที่พร้อมเสิร์ฟ ด้วยพิธีรีตรองและกระบวนการเป็นขั้นเป็นตอน แขกผู้มาพักแต่ละคนจะดื่มด่ำกับชา พร้อมกับชื่นชมเครื่องเซรามิคบรรจุชา ก่อนส่งคืนชามที่ว่างเปล่าให้แก่เจ้าบ้าน ทุกการเคลื่อนไหวมีความหมาย นั่นแปลว่าโอะโมะเตนาชิ อาศัยเจ้าบ้านเป็นหลักก็จริง แต่ความร่วมมือของผู้เข้าร่วมพิธีก็สำคัญอย่างยิ่งด้วย

 

4. ความแตกต่างระหว่าง บริการ กับ โอะโมะเตนาชิ
อ่านมาถึงตรงนี้ หลายคนอาจสงสัยว่ามันแตกต่างกันอย่างไร คำว่า“บริการ” โดยทั่วไปหมายถึงความสัมพันธ์ระหว่างผู้ให้บริการกับลูกค้า การปฏิสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองฝ่ายมักมีค่าบริการและมีเรื่องผลตอบแทนที่เป็นเงินมาเกี่ยวข้อง หนึ่งในความแตกต่างหลักๆ ระหว่าง “บริการ” กับการต้อนรับแบบญี่ปุ่น (โอะโมะเตนาชิ) คือ การบริการแบบตะวันตกมักทำด้วยความคาดหวังว่าลูกค้าจะจ่ายค่าผลิตภัณฑ์หรือบริการเสริม ส่วน โอะโมะเตนาชิ จะกระทำไปได้โดยไม่ต้องคาดหวังสิ่งตอบแทนและไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งแตกต่างจากการบริการในวัฒนธรรมตะวันตกที่คาดได้ว่า (และบางครั้งถึงขั้นคาดหวัง) ทิปหรือรายได้เล็กๆ น้อยๆ จากการให้บริการที่ดี

การต้อนรับและความเอื้ออาทรแบบญี่ปุ่นมักไม่สามารถมองเห็นอย่างชัดเจนว่าเป็น “บริการ” และมักจับต้องไม่ได้ เพราะโอะโมะเตนาชิ อยู่ในสิ่งที่ไม่ได้ทำพอๆ สิ่งที่ทำ ส่วนให้บริการ บางครั้งอาจออกมาอย่างทื่อๆและเห็นได้ชัดเพื่อให้ลูกค้าเห็นว่า มีการจัดหาผลิตภัณฑ์หรือสิ่งต่างๆ ไว้ให้ ในทางกลับกัน โอะโมะเตนาชิ มักไม่ใช่สิ่งที่เห็นได้และไม่ควรตั้งใจทำในลักษณะย้ำเตือนลูกค้าให้รู้สึกถึงการต้อนรับ การอุทิศตัวของผู้เชี่ยวชาญในการทำอาหารญี่ปุ่น คือ รสชาติที่ออกมาถูกปากคนไทย ถือเป็นตัวอย่างที่สมบูรณ์แบบของการต้อนรับที่มองไม่เห็นนี้

 

5. จิตวิญญาณที่ถูกแทรกซึม
เซ็น โนะ ริเคียว Sen no Rikyū (1522-1591)
ผู้เป็นปรมาจารย์ด้านการชงชา และเป็นผู้เริ่มต้นพิธิชงชา ได้กล่าวถึงปรัชญา โอะโมะเตนาชิ สำหรับการเป็นเจ้าภาพในชีวิตประจำวันไว้ดังนี้:

“เพราะชีวิตเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน เราต้องระลึกและประทับไว้ในใจถึงเหตุการณ์สำคัญของวันนี้ ให้เหมือนกับว่าจะไม่มีวันพรุ่งนี้ พิธีชงชาในวันนี้เป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิตที่เกิดขึ้นพร้อมกับแขกของตน ดังนั้นผู้ที่เข้าร่วมจึงต้องทุมเทจิตใจและเข้าร่วมพิธิด้วยความจริงใจ”

 

6. MAGURO ใช้วิตวิญาณในวิถี แห่งโอะโมะเตนาชิ
คือ การให้มากกว่าที่ขอ ” Give More With Sushi Moment ”  คือ การให้ลูกค้าที่มาทานที่ร้านได้สิ่งที่มากกว่าแค่มาทานอาหารหนึ่งมื้อแล้วกลับบ้านไปเฉยๆ แต่ต้องกลับไปพร้อมรอยยิ้ม ความสุข ความสนุก ความประทับใจ ผ่านสิ่งที่เรามอบให้ด้วยใจ ทั้งในเรื่องของรสชาติอาหารที่ถูกปาก ความสดใหม่ของวัตถุดิบต่างๆ เป็นที่ๆ เหมาะแก่การพบปะพูดคุยกันระหว่างครอบครัว เพื่อฝูงที่เราพร้อมให้การบริการ หรือเรื่องราวของวัตถุดิบที่คุณจะสามารถรับรู้ได้จากบทความของเราในแต่ละครั้ง เราหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะให้ลูกค้าทุกคนสามารถสัมผัสได้ครับ

 

แหล่งที่มาของบทความ www.maguro.co.th
ภาพประกอบ www.www.pinterest.com

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *